งานการเมือง ของ ใหญ่ ศวิตชาติ

นายใหญ่ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ครั้งแรก ในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2487 ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการแทนที่ขุนอนุกูลประชากร ผู้แทนราษฎรคนเก่าที่เสียชีวิตอย่างกระทันหันด้วยเหตุระเบิดที่หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง และได้รับเลือกเรื่อยมา จนถึง พ.ศ. 2519 รวม 8 สมัย

นายใหญ่ ถือเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรฝีปากกล้า เพียงรับตำแหน่งเพียงสมัยเดียวก็อภิปรายรัฐบาลในรัฐสภาจนเป็นที่ประจักษ์ ในที่สุดเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง และเป็นนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมา นายใหญ่จึงได้รับตำแหน่งทางการเมืองเพิ่มเติมด้วยการเป็นเลขานุการรัฐมนตรี และได้เข้าร่วมรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ในสมัยต่อมาด้วยการเป็นรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงคมนาคม เมื่อรัฐบาลนายควงสิ้นสุดลง นายใหญ่จึงรวมกับนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง เช่น นายเลียง ไชยกาล, นายฟอง สิทธิธรรม, นายสมบุญ ศิริธร ร่วมกันก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมา ในปี พ.ศ. 2489 โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค และม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรองหัวหน้าพรรค โดยนายใหญ่เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย ในปี พ.ศ. 2489 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ในรัฐบาลองนายควง อภัยวงศ์[2]

ต่อมาหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 นายใหญ่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์อยู่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อได้มีกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาอย่างเป็นทางการ นายใหญ่จึงได้รับตำแหน่งเลขาธิาการพรรคประชาธิปัตย์ โดยบทบาทของผู้เป็นเลขาธิการพรรคในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องต่อสู้กับพรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างเข้มข้น ในฐานะเลขาธิการพรรค นายใหญ่ได้เดินทางไปช่วยผู้สมัครของพรรคหาเสียงตามจังหวัดต่าง ๆ ตลอดจนคัดเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ทำให้เป็นที่รู้จักของผู้คนมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางการทุจริตการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง อันเป็นเหตุที่ทำให้มีการรัฐประหารในปีเดียวกัน ซึ่งทำให้ไม่มีพรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎรไปนานถึง 11 ปี

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2512 เมื่อนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรกถึงแก่กรรม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคให้เป็นหัวหน้าพรรคต่อ นายใหญ่ก็ได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคต่อมาอีกด้วย[1]

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นายใหญ่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปีเดียวกัน[3] และต่อมาในปี พ.ศ. 2517 ก็ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปร่วมกับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนแรก ก่อตั้งพรรคกิจสังคมขึ้นมา และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปี พ.ศ. 2518[4]

นายใหญ่ ศวิตชาติ ยุติบทบาททางการเมืองลงอย่างสิ้นเชิงหลังแพ้การเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2522[1]

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

นายใหญ่ ศวิตชาติ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 8 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2481 (เลือกตั้งซ่อม) จังหวัดนครสวรรค์
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มกราคม พ.ศ. 2489 จังหวัดนครสวรรค์
  3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2491 จังหวัดนครสวรรค์
  4. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จังหวัดนครสวรรค์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์[5]
  5. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ธันวาคม พ.ศ. 2500 จังหวัดนครสวรรค์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์[6]
  6. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2512 จังหวัดนครสวรรค์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
  7. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2518 จังหวัดนครสวรรค์ สังกัดพรรคกิจสังคม
  8. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2519 จังหวัดนครสวรรค์ สังกัดพรรคกิจสังคม